ศาสนาและความเชื่อในสังคมไทย
|
มนุษย์มีความหวาดกลัวเป็นปมที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกมาแต่กำเนิด อันนำมาสู่ความปรารถนาในการปลดเปลื้องความกลัวนั้นด้วยการพยายามหาเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ก่อกำเนิดเป็นรูปแบบความเชื่อถือที่เรียกกันว่า ศาสนา ดังนั้นศาสนาจึงมีบทบาทสำคัญในการอบรมขัดเกลาบุคคลให้ดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีแบบแผนตามแนวคิดที่แต่ละศาสนาจะเห็นเป็นเรื่องถูกต้อง
ตั้งแต่ครั้งบรรพกาลผู้คนในพื้นที่ประเทศไทยก็มีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เริ่มต้นจากรูปแบบความเชื่อที่ถือกันว่าเก่าแก่ที่สุดในโลก นั่นคือ การนับถือภูตผีปีศาจ ( Animism )
คนไทยนับถือผีกันมาตั้งแต่เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งเมื่อ 5,000 4,500 ปีมาแล้ว พวกเขาเชื่อว่าปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น เช่น ฝนตก ฟ้าร้องฟ้าผ่า น้ำท่วม ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลต่อการดำรงชีวิต เกิดขึ้นได้เพราะอำนาจที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ ซึ่งพวกเขาเรียกว่า ผี
ผี ในที่นี้มิได้หมายถึง วิญญาณของคนตาย หากความหมายของมันตรงกับความหมายของคำว่าเทพเจ้าในปัจจุบันนั่นเอง คนไทยโบราณเชื่อว่าผีมีอำนาจที่จะบันดาลสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้นการเซ่นสรวงบำบวงเพื่อสร้างความพอใจให้ผีจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ อันจะนำความผาสุกมาสู่ตนเองและเผ่าพันธุ์สืบไป ผีจึงมีหลายอย่าง เช่นผีฟ้าหรือพญาแถนซึ่งเป็นพญาผี เป็นใหญ่กว่าผีทั้งหลายในโลก ผีป่า ผีปู่ผีย่าหรือผีบรรพบุรุษ ผีประจำถิ่นและผีเหล่านี้สามารถปรากฏกายในรูปลักษณ์ต่างๆกัน ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ เช่นดาวตก เป็นต้น
ฉะนั้นคนพวกนี้จึงเคารพบูชาคน สัตว์ หรือสิ่งของที่เชื่อว่าสามารถติดต่อหรือเชื่อมโยงกับผีได้ เช่นคนทรง สัตว์เช่น กบ แมว งู ช้าง หรือสิ่งของ เช่น ก้อนอุกกาบาต
ในเวลาต่อมากลุ่มชนขยายใหญ่ขึ้นและรับเอาอารยธรรมจากดินแดนอื่นเข้ามาแล้วนั้น ปรากฎวิถีความเชื่อโบราณลัทธิหนึ่งที่แพร่หลายเข้ามาในดินแดนแถบนี้ และเหล่าชนต่างเชื่อถือบูชา นั่นคือศาสนาพราหมณ์ ฮินดู
ศาสนาพราหมณ์ถือกำเนิดขึ้นในชมพูทวีปเมื่อกว่า 3,000 ปีมาแล้ว โดยมีความเคารพศรัทธาในองค์พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายที่มีอำนาจอยู่เหนือสรรพสิ่ง โดยเฉพาะ พระพรหม ผู้สรรสร้าง พระวิษณุ ผู้รักษา และพระศิวะ ผู้ทำลาย ซึ่งเรียกรวมกันว่า ตรีมูรติ ความเชื่อเรื่องพลังอำนาจเหนือธรรมชาตินี่เองที่สามารถหล่อหลอมให้คนในดินแดนสยามเชื่อถือยอมรับในศาสนานี้อย่างเต็มใจ เพราะนอกจากจะไม่ขัดแย้งกับลัทธิความเชื่อดั้งเดิมที่เคยมีมาแล้วยังเท่ากับเป็นการขยายความเชื่อดั้งเดิมที่เคยนับถือสิ่งที่ไร้ตัวตนให้กลายเป็นสิ่งที่มีตัวตนสามารถสัมผัสได้มากขึ้น กลายเป็นเหล่าทวยเทพที่ปกปักคุ้มครองโลก
ศาสนาพราหมณ์ ฮินดู เข้าสู่ดินแดนแถบนี้เมื่อประมาณ 1,000 ปีมาแล้ว โดยเชื่อว่าเหล่าพราหณ์ซึ่งเดินทางจากอินเดียเป็นผู้นำเข้ามา และนับถือแพร่หลายกันไปทั่วทั้งเอเชียอาคเนย์
ประมาณกันว่า ในราว พ.ศ.569 พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์โมริยะผู้ปกครองอินเดีย ทรงส่งสมณทูต 2 องค์ คือ พระโสณเถระและพระอุตตรเถระเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนที่เรียกกันว่า สุวรรณภูมิ ซึ่งจดหมายเหตุจีนระบุว่าอยู่ระหว่างพุกาม( พม่า )กับพระนครของเขมรจึงน่าจะหมายถึงดินแดนสยามในปัจจุบัน
ผู้ปกครองรัฐในขณะนั้นซึ่งเรียกตนเองว่าอาณาจักรทวารวดี ได้ยอมรับนับถือศาสนาใหม่นี้อย่างเต็มที่ทำให้ประชาชนต่างหันมาให้ความเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนากันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งเนื้อแท้แห่งพระพุทธศาสนาก็สอดคล้องกับลักษณะพื้นฐานของคนไทย และไม่เป็นปฏิปักษ์รุนแรงกับความเชื่อดั้งเดิม
ศาสนาพุทธนิกายแรกที่เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้คือ นิกายมหายาน ซึ่งมีความเชื่อเป็นหลักว่าพระพุทธเจ้ามีหลายพระองค์มากดุจเม็ดทรายในมหาสมุทร นอกจากนี้ยังเชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์ ว่าคือบุคคลผู้ทำความดีอย่างยิ่งยวด แต่ไม่ยอมเข้าสู่โลกนิพพาน หากยังอยู่ในโลกนี้เพื่อช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากกองทุกข์ พระโพธิสัตว์มีหลายพระองค์ เช่น ปัทมปาณิโพธิสัตว์ มัญชุศรีโพธิสัตว์ หรือ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ผู้มีชื่อเสียงและได้รับการนับถือศรัทธามากที่สุด
ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ในอาณาจักรทวาราวดี พระพุทธศาสนานิกายหินยานจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทและเจริญถึงขีดสุดในสมัยสุโขไทเป็นต้นมา ด้วยแนวคิดหลักที่เน้นเหตุและผล เสนอแนวทางการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายไม่เบียดเบียนทำให้นิกายนี้เจริญควบคู่กับบบ้านเมืองในแถบนี้มาตลอด
ในสมัยสุโขไท เรารับรูปแบบของศาสนาพุทธจากศรีลังกา โดยผ่านทางเมืองเมาะตะมะของมอญ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัด สงบเสงี่ยม ทำให้ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับศรีลังกาในสมัยนั้นมีความแน่นแฟ้นมากขึ้น ส่งผลต่อศิลปกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ซึ่งล้วนมีต้นกำเนิดมาจากศาสนา
ศาสนาคริสต์เริ่มเข้ามาในดินแดนสยามตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีประมาณรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ในพ.ศ.1555 มีมิชชันนารีซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโปรตุเกสคณะดอมินิกัน ฟรันซิสกันและเยสุอิตทยอยเข้ามา และร่วมอยู่กับประชาคมชาวโปรตุเกส สั่งสอนศาสนาและมีชาวอยุธยาเลื่อมใสเข้ารีตจำนวนไม่น้อย
ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนักบวชในคริสต์ศาสนามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและบริหารประเทศ เวลานั้นมีคนไทยเข้ารีตประมาณ 2,000 คน นักบวช 11 องค์ และต้องยอมรับว่าบาทหลวงเหล่านี้มีส่วนอย่างมากต่อความเจริญของประเทศในเวลานั้น
ในสัมยรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ทรงอุปถัมภ์กิจการของคริสต์ศาสนาเป็นอย่างดีมาโดยตลอด กระทั่งปัจจุบันประเทศไทยมีอัครสังฆราชาประจำอยู่ที่วัดอัสสัมชัญ เขตบางรักกรุงเทพมหานคร คือ พระคาร์ดินัลไมเคิล มีชัย กิจบุญชู ถือเป็นหนึ่งในพระราชาคณะแห่งคริสตจักรที่มีสิทธิ์เลือกและได้รับเลือกเป็นสมเด็จพระสันตปาปา ประมุขแห่งคริสตจักร
สำหรับศาสนาคริสต์นิกายโปแตสแตนท์นั้นเริ่มมีบทบาทในประเทศไทยในปี 1828 เมื่อมิชชันนารีคณะแรกจากสมาคมมิชชันนารีลอนดอน ( London Missionary Society) ซึ่งประกอบด้วยศาสนาจารย์ออกัสกุตช์ลาฟฟ์ชาวเยอรมันและศาสนาจารย์ยากอบ ทอมลินเริ่มเข้ามาเผยแพร่ศาสนาที่กรุงเทพฯ ความจริงทั้งสองตั้งใจจะไปเมืองจีนแต่ก็ได้เปลี่ยนความตั้งใจและทำงานกับคนจีนที่กรุงเทพฯ แทน และได้ร่วมกันแปล พระวรสาร ( The Gosple) ทั้งสี่เล่มออกเป็นภาษาไทย เมื่อเห็นว่างานดำเนินไปด้วยดีจึงขอคณะกรรมาธิการอเมริกันเพื่องานธรรมทูตต่างประเทศ (Ame rican Board of Commissioners for Foreign Missions) ให้ส่ง มิชชันนารีมาเพิ่ม และได้ติดต่อคณะอเมริกันบับติสท์มิชชั่นในพม่าให้ส่งคนมาช่วย ศาสนาจารย์ยอห์น เทเลอร์ โจนส์จึงได้มาพร้อมกับครอบครัวในปี 1833 และได้แปลหนังสือพระคัมภีร์ไบเบิลพันธสัญญาใหม่ทั้งหมดเป็นภาษาไทย กิจการของโปแตสแตนท์จึงดำเนินไปได้ด้วยดีตลอดมา
สำหรับศาสนาอิสลามนั้นได้เผยแผ่มาสู่ประไทยโดยชาวมุสลิมที่มากับเรือสินค้า และเข้ามาติดต่อค้าขายกับคนไทยในในภาคใต้ ได้นำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแผ่ด้วย จากนั้นก็ได้แพร่ขยายมากขึ้นจนเป็นที่รู้จักของผู้คน และจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้เราทราบว่า ศาสนาอิสลามได้เผยแผ่เข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย
ชาวมุสลิมที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยมีหลายเชื้อสายด้วยกัน เช่น เชื้อสายอินเดีย เชื้อสายปากีสถาน เชื้อสายจีน เชื้อสายเปอร์เซียหรืออิหร่าน ประกอบด้วยนิกายซุนีห์และนิกายชีอะฮ์ที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
ลักษณะเด่นของศาสนาและความเชื่อในประเทศไทยก็คือความผสมกลมกลืนกันและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แม้จะเป็นเมืองพุทธ และเรียกตัวเองว่าพุทธศาสนิกชน แต่คนไทยก็ยังเคารพนับถือเทพเจ้า และภูติผี กันอยู่ ฉะนั้น เราจึงยังเห็นวัดวาอารามควบคู่กันไปกับศาลเจ้า ศาลพระภูมิ และศาลของผี ในขณะเดียวกันการเคารพในความคิดและความเชื่อของผู้อื่นก็ยังคงมีอยู่ไม่เสื่อมคลาย. |
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย
ความคิดเห็น